เปรียบเทียบ “โมลนูพิราเวียร์” กับ “ฟ้าทะลายโจร”

Latest Interesting Stories

“ณ บ้านพระอาทิตย์”
“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์”

ในที่สุดประชาชนคนไทยในกรุงเทพมหานครก็กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น รถติดมากขึ้น ร้านอาหารแน่นมากขึ้น ประชาชนมีความวิตกกังวลน้อยลง ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจยังจะไม่สามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่หรือใช้บริการได้เหมือนเดิมทั้งหมด

แต่ในขณะที่รัฐบาลทยอยคลายล็อกมาตรการในการคุมเข้มให้น้อยลง ประชาชนก็การ์ดตกลงพอสมควร แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็กลับไม่เพิ่มขึ้น แถมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

แม้มีคำถามว่า “ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่” ที่รายงานนั้นเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะตัวเลขรายงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 พบว่าอัตราการตรวจพบเชื้อของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13.16 ของจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ แม้จะลดลงจากก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังถือว่ายังสูงมากเทียบกับประเทศอื่นๆ

ประกอบกับประเทศไทยมีการตรวจเชื้อไปแล้ว 247 คนต่อประชากร ประชากร 1 ล้านคน อยู่ในอันดับ 130 จาก 223 ประเทศ แปลว่าประเทศไทยมีการตรวจน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ดังนั้นตรวจน้อยจึงพบ “ปริมาณผู้ป่วย” น้อยกว่ามาตรฐาน

จึงทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยอาจจะมีการตรวจน้อยจึงพบน้อย หรืออาจจะมีเหตุผลรวมไปถึงผู้ป่วยทั้งหลาย “ไม่รายงานต่อภาครัฐ” มากขึ้นด้วย จึงพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนที่ตรวจยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจำนวนที่ตรวจ

โดยผู้ที่มาตรวจเชื้อโควิดในช่วงหลังก็อาจจะมีอาการหนักแล้วบ้าง หรือไม่ก็ตรวจเบื้องต้นด้วย ATK มาแล้วพบผลติดเชื้อเป็นบวกมาตรวจมากขึ้น ส่งผลทำให้สัดส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อเทียบกับจำนวนที่ตรวจของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับสูงได้เช่นกัน

แต่ก็ยังเป็นเบาใจได้อยู่ตรงที่ว่า “อัตราการเสียชีวิต”และ “จำนวนผู้เสียชีวิต” รายวันของผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำเทียบกับประเทศอื่นๆ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

แสดงให้เห็นว่าถึงแม้การรายงานตัวเลขผู้ป่วยของภาครัฐอาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนความจริงทั้งหมด แต่ก็อาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้ป่วยที่ไม่รายงานภาครัฐและรักษาตัวเองมากขึ้น และหายป่วยได้เองจำนวนมากขึ้น อัตราการตายลดลง โดยไม่รายงานภาครัฐมากขึ้น
โดยเฉพาะหลังจากที่ประชาชนตื่นรู้เรื่องฟ้าทะลายโจร และฟ้าทะลายโจรไม่ขาดตลาดแล้วนับตั้งแต่หลังเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา

ถอดบทเรียนวัคซีนไม่ประสบความสำเร็จป้องกันโควิด-19

เราจะเห็นได้ว่าประเทศที่ประชากรมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเกินร้อยละ 60 ขึ้นไปแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 กลับมาระบาดรอบใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และเป็นการระบาดอย่างหนักยิ่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

ประเทศสำคัญที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เกินร้อยละ 50 กับกราฟระบาดรอบใหม่ถ้าเราลองเลือกประเทศสำคัญๆและน่าสนใจมา 5 ประเทศ คือ อิสราเอล, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, มาเลเซีย, และสิงคโปร์ เพื่อเทียบกับประเทศไทย

ผลปรากฏว่าประเทศที่เป็น “ต้นแบบ” ของการระดมฉีดวัคซีนแม้จะมีผู้ติดเชื้อลดลงในระยะแรก แต่ต่อมากลับมาระบาดยิ่งกว่าเดิม

และข้อสำคัญเมื่อเทียบกับสัดส่วนกับประชากร 1 ล้านคนเท่าๆ กัน ประเทศที่ฉีดวัคซีนก่อนไทยเข้าสู่สถานการณ์เลวร้ายกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น

โดย ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนครอบ 2 เข็มประมาณร้อยละ 29.9 สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 154.84 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน

สิงคโปร์ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ระดมฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วร้อยละ 77 (มากกว่าประเทศไทย 2.5 เท่าตัว) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 436.78 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 2.82 เท่าตัว

สหราชอาณาจักร ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ระดมฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วร้อยละ 66 (มากกว่าประเทศไทย 2.2 เท่าตัว) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 487.40 คนต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 3.14 เท่าตัว

อิสราเอล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วร้อยละ 64 (มากกว่าประเทศไทย 2.10 เท่าตัว) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 356.71 คนต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 2.31 เท่าตัว

มาเลเซีย ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วร้อยละ 63 (มากกว่าประเทศไทย 2.11 เท่าตัว) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 322.23 คนต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 2.08 เท่าตัว

สหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วร้อยละ 55 (มากกว่าประเทศไทย 1.84 เท่าตัว) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 309.62 คนต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 2 เท่าตัว

สรุปได้ว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนมากกว่าประเทศไทย ทั้งสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร อิสราเอล มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เลวร้ายกว่าประเทศไทย ทั้งๆที่เป็นการระบาดสายพันธุ์เดลต้าในช่วงเวลาเดียวกัน

ดังนั้นวัคซีนยังใช้เป็นเงื่อนไขในการ “ป้องกัน” การติดเชื้อไม่ได้ และยังไม่สามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้

โดยสมมุติฐานหนึ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ว่าการฉีดวัคซีนอาจทำให้ผู้ติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการแต่ยังสามารถแพร่ระบาดง่ายขึ้น กว้างขึ้น และเป็นผลทำให้เกิดการกลายพันธุ์ตามมาหรือไม่

เพราะสมมุติฐานนี้สอดคล้องกับสังเกตที่ว่า การระบาดของประเทศไทยที่หนักขึ้นนั้น เกิดขึ้นหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เหมือนกับชาติอื่นๆที่ฉีดวัคซีน เช่นกัน

ถอดบทเรียนวัคซีนลดความรุนแรงของโรคเทียบกับกับฟ้าทะลายโจร(ในเรือนจำของประเทศไทย)

แม้ประเทศที่ฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดการระบาดยิ่งกว่าเดิม แต่ก็มีคนโต้แย้งว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องปิดกิจการหรือล็อกดาวน์ อย่างไรก็คุ้มค่ากว่า

แต่ตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่จากเดิมระดมฉีดวัคซีน เพื่อประกาศว่า “สิงคโปร์จะอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้” ก็ไม่ประสบความสำเร็จในแนวคิดดังกล่าวนี้เช่นกัน

เพราะแม้วัคซีนจะไม่ช่วยป้องกัน แต่อย่างน้อยความคาดหวังว่าจะช่วย “ลดความรุนแรง” ให้น้อยลงได้ “ลดอัตราการเสียชีวิต” ให้น้อยลงได้ นี่คือเงื่อนไขสำคัญที่สิงคโปร์ประกาศว่าจะอยู่กับโควิดให้ได้

แต่พอถึงกลางเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา สิงคโปร์กลับเกิดการระบาดของโควิดมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงขนาดต้องกลับนโยบายมาล็อกดาวน์ใหม่ ด้วยนโยบายกลับลำว่า “ชีวิตสำคัญกว่าเศรษฐกิจ”

เพราะถึงแม้ถ้าวัคซีนจะช่วยทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง หรือมีอัตราการตายลดลงได้จริง แต่เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ย่อมต้องการใช้บริการโรงพยาบาล จนล้นโรงพยาบาล ถึงจุดนั้นเมื่อไหร่อัตราการเสียชีวิตและจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะผู้ป่วยหนักจำนวนมากอาจไม่ได้รับการรักษาใดๆ

ซึ่งประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ก็เคยเจอสภาพนั้นมาแล้ว จากเหตุผลดังกล่าวทุกประเทศอาจจะไม่สามารถเปิดประเทศได้เพียงเพราะวัคซีนจะช่วย “ลดความรุนแรง”ของโรคได้อย่างเดียวอีกต่อไป

เพราะตราบใดที่โรคระบาด “ง่าย” และยังต้องพึ่งพาโรงพยาบาลอย่างเดียว เราก็จะยังคงมีความเสี่ยงที่จะมีเตียงในโรงพยาบาลไม่พอรองรับผู้ป่วยอยู่ดี

ทางตรงกันข้ามการลดความรุนแรงด้วยวัคซีนก็อาจจะกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ”กระตุ้นการแพร่เชื้อได้มากขึ้น (ทั้งจากติดเชื้อแล้วไม่รู้ตัว และใช้ชีวิตประมาทการ์ดตกมากขึ้น) ซึ่งย่อมมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การติดเชื้อมากขึ้นจนกระทั่งผู้ป่วยล้นเตียงในโรงพยาบาลได้อยู่ดี

ตัวอย่างตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยว่าเราเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

หลังจากนั้นวันที่ 1 เมษายน 2564 ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่จากสายพันธุ์เดลต้าอย่างชัดเจน เป็นไปได้หรือไม่ว่าผลของการฉีดวัคซีนอาจมีส่วนในการกระตุ้นการกลายพันธุ์เพราะการติดเชื้อง่ายขึ้นกว่าเดิม

ประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เรามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสะสมรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,667,097 คน โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 17,305 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1.04 เทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ

ซึ่งถือว่าแพทย์แผนปัจจุบันของไทยมีความสามารถ และมีความสามารถมากตั้งแต่ยังไม่ฉีดวัคซีน แต่ถ้าตัดตัวเลขเรือนจำออกไป ก็จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยนอกเรือนจำจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.07

ในขณะที่เรือนจำประเทศไทย ซึ่งใช้ยาฟ้าทะลายโจรเป็นยาหลักในการรักษาต่างจากโรงพยาบาลนอกเรือนจำ ตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผลปรากฏว่านักโทษที่ป่วยเป็นโควิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 70,669 คน มีผู้เสียชีวิตเพียง 156 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต เพียงร้อยละ 0.22 เท่านั้น

นั่นหมายความว่าอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยทั่วไปนอกเรือนจำ “สูงกว่า” ผู้ป่วยในเรือนจำที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรมากถึง 4.8 เท่าตัว

หรือแปลอีกทางคือ เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มผู้ป่วยคนไทยด้วยกัน ผู้ป่วยในเรือนจำที่มีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรช่วยลดอัตราการตายให้ลดลงไปถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่อยู่นอกเรือนจำที่ฟ้าทะลายโจรถูกนำมาใช้น้อยมากด้วยคู่มือเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์

คำถามสำคัญคือถ้าเราหรือคนในครอบครัวป่วย แล้วเข้าโรงพยาบาลแล้วได้รับแต่ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นหลักแทนฟ้าทะลายโจร เราจะเลือกรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่องานวิจัยของ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือมีชื่อย่อว่า HITAP (ไฮแทป) องค์กรวิชาการอิสระ ได้รายงานต่อกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์” ไม่ได้ช่วยลดอัตราการตายให้ลดลง

คำถามคือจากข้อมูลข้างต้นเราจะเลือกรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อที่จะได้ใช้ยาฟ้าทะลายโจร หรือเลือกที่จะไปที่โรงพยาบาลแล้วรับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรมากกว่ากัน?

แต่ความน่าสนใจยิ่งไปว่านั้นก็คืออัตราการตายในระดับร้อยละ 0.22 ในเรือนจำของประเทศไทยนั้น น่าพอใจเพียงใด ก็ให้เปรียบเทียบดูกับประเทศที่เน้นนโยบายฉีดวัคซีนไปมากแล้วก็ด้วยความหวังว่า “อัตราการเสียชีวิต” จะลดต่ำที่สุด จนถึงจุดที่ประชาชนรับได้จากวันที่ 1 เมษายน 2564 ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ดังนี้

สหรัฐอเมริกา อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1.44
มาเลเซีย อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.92
สิงคโปร์ อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.49
อิสราเอล อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.38
อังกฤษ อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.34

ในขณะที่เรือนจำประเทศไทยที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจร มีอัตราการเสียชีวิตเพียงแค่ร้อยละ 0.22 เท่านั้น น้อยกว่าอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ อิสราเอล สหราชอาณาจักร ซึ่งระดมฉีดวัคซีนมากกว่าและเร็วกว่าประเทศไทย

แค่ลองพิจารณาดูว่าประเทศเหล่านี้พยายามฉีดวัคซีนให้มากที่สุด แต่ “อัตราการเสียชีวิต” ถึงแม้อาจจะลดลงได้ก็ไม่เท่ากับ การใช้ “ยาฟ้าทะลายโจร” ในเรือนจำประเทศไทยเลย เราจะควรจะวางยุทธศาสตร์ฟ้าทะลายโจรแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศมากกว่านี้หรือไม่

ข้อสำคัญคือฟ้าทะลายโจรมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าวัคซีนทั่วโลก และประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย พึ่งพาตัวเองง่าย เราควรจะส่งเสริมและศึกษาปรากฏการณ์ในโมเดลเรือนจำของประเทศไทยอย่างไร

โอกาสของยารักษาโรคจากยากาฝาก ฟาวิพิราเวียร์ 6 พันบาทต่อหัว มาเป็นโมลนูพิราเวียร์ 2 หมื่นกว่าบาทต่อหัว

ในที่สุดทั่วโลกก็ต้องกลับมายอมรับว่า วัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดการป้องกันโรค และวัคซีนอาจจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต แต่กลับทำให้ง่ายต่อการยิ่งระบาดมากขึ้นเช่นกัน

เพราะการติดเชื้อแล้วแต่ไม่รู้ตัว แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ แต่เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ยิ่งใช้ชีวิตปกติมากขึ้น ก็ย่ิงระบาดมากขึ้น

และจุดสำคัญวัดที่จะพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้อีกครั้งคือ “ฤดูหนาว” ที่กำลังจะมาถึงว่า การระบาดจะกลับมาจนต้องพึ่งพาโรงพยาบาลมากขึ้นจนจะถึงขั้นผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอีกหรือไม่ และจะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

โอกาสจึงกลับมาตกกับผู้ผลิต “ยารักษา”โรคโควิด-19 ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในช่วยรับมือกับโรคโควิดใหม่

โดยเมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – บริษัท “เมอร์ค” (Merck) และ “ริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์” (Ridgeback Biotherapeutics) แถลงข่าวความสำเร็จในการทดสอบยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)” สำหรับรักษาอาการป่วย รวมถึงเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมผลิต โดยระบุผลการทดสอบว่า…

สามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต เมื่อติดเชื้อโควิดได้ร้อยละ 50

ซึ่งแน่นอนว่าข่าวดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลกราคาตกลงทันที และเป็นผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพิ่มสูงขึ้นทันทีเช่นกัน

ราคาขายของโมลนูพิราเวียร์ หนึ่งคอร์สใช้ 40 เม็ดๆ ละ 580 บาท รับประทานวันละ 8 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน รวม 40 เม็ด ใช้งบประมาณ 700 เหรียญสหรัฐ หรือ 23,100 บาทต่อคอร์สต่อคน

ส่วนฟ้าทะลายโจรใช้คนหนึ่งประมาณ 80 เม็ด มูลค่าเม็ดละบาทเศษ ผู้ป่วยต่อคนก็ไม่เกิน 100 บาท แล้วมีผู้ป่วยหายป่วยเป็นจำนวนมากด้วย

แต่เวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กลับไม่ต้องการให้ใช้ฟ้าทะลายโจรมาแทรกการรักษาในทางปฏิบัติใช่หรือไม่ โดยให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่ตรวจพบเชื้อทันทีและเร็วที่สุด และมีใบกำกับยาในบางโรงพยาบลด้วยซ้ำไปว่า “ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจร”อีกด้วย

ยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างน้อยคนละ 50 เม็ด เคยมีราคาเม็ดละ 120 บาท ค่าใช้จ่ายต่อคนๆละ 6,000 บาท องค์การเภสัชกรรมเคยแถลงข่าวว่า 5 เดือนสุดท้ายของปี 2564 สั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มา 420 ล้านเม็ด หมายถึงการสั่งซื้อมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท ถ้ามีการนำเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้นเมื่อยาฟาวิพิราเวียร์ถูกโจมตีมากว่าไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีหันมาเร่งซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์” เพิ่มขึ้นแทนอีก

โดยกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์” จำนวน 200,000 คอร์ส หรือสำหรับ 200,000 คน โดยจะใช้งบกลางในการจัดซื้อ และคาดว่าจะนำเข้ายาได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ โดยอ้างว่าได้ผลดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์

คำถามคือแล้ว “ที่ผ่านมา” กระทรวงสาธารณสุขของบประมาณไปซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ทำไม โดยย่อมต้องรู้อยู่แล้วว่าจะมียาโมนูพิราเวียร์เข้าประเทศไทยมาในปลายปี 2564 นี้ เพราะเรื่องแบบนี้ต้องมีการวางแผนและติดตามข่าวล่วงหน้าอยู่แล้ว ยกเว้นว่ามีการสั่งซื้อฟาวิพิราเวียร์โดยไม่เคยมีการติดตามเรื่องโมลนูพิราเวียร์มาก่อนเลย

แต่ถ้ายาโมลนูพิราเวียร์สามารถถูกนำมาใช้ในการรักษาแทนยาฟ้าทะลายโจร ประเทศไทยก็จะต้องเสียงบประมาณอันมหาศาลอีกครั้ง

เพราะถ้าคนเชื่อว่าโรคโควิดสามารถรักษาได้ ก็ต้องระวังตัวน้อยลง และการระบาดก็ต้องมีมากขึ้น มันจึงจะไม่หยุดเพียงแค่ 4,620 ล้านบาทเท่านั้น แต่มันจะสูบงบประมาณประเทศไทยไปมากกว่านี้ และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

เปรียบเทียบโอกาสของโมลนูพิราเวียร์ VS ยาฟ้าทะลายโจร

ข้อดีของโมลนูพิราเวียร์นั้นคือมีบริษัทยาเป็นนายทุนเพื่อการแสวงหาผลกำไร จึงพร้อมลงทุนในการวิจัยเพื่อหวังผลทางการค้าจึงทำให้งานวิจัยเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ฟ้าทะลายโจรที่มีการใชักับผู้ป่วยจริงอยู่จำนวนมากแต่กลับได้รับการสนับสนุนน้อยเกินไปในการรวบรวมและการจัดเก็บข้อมูล เพราะด้วยคู่มือเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์กลับสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่แรกที่รู้ว่าติดเชื้อแทนยาฟ้าทะลายโจร ฟ้าทะลายโจรจึงกลายเป็นยานอกระบบที่ยากแก่การยอมรับในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อเผยแพร่ในงานวิจัย

ยาฟาวิพิราเวียร์ รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งมีมาตรฐานการแพทย์สูง แม้อยู่ในฐานะประเทศผู้ที่มีบริษัทผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ แต่กลับไม่ให้ใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 เพราะสรุปได้ว่ายานี้ไม่มีผลต่อการรักษาโรคโควิด-19 ในขณะที่อินเดียในฐานะประเทศผู้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์อีกราย ก็ได้เลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว เพราะไม่ได้ผล ก็มีข่าวว่ามีความพยายามที่จะเจรจากับกระทรวงสาธารณสุขของไทยเพื่อเร่ขายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ไทยในราคาถูกๆ เช่นกัน

แต่ยาโมลนูพิราเวียร์กำลังเป็นยาตัวใหม่ที่จะซื้ออีก โดยข้ออ้างของกระทรวงสาธารณสุขคือ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพมากกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีเรื่องที่น่าพิจารณาเทียบกับยาฟ้าทะลายโจรดังนี้

ประการแรก ฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมากกว่าโมลนูพิราเวียร์หรือไม่?

ฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์เกี่ยวข้องโควิดมากกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ โดยมีการออกฤทธิ์ถึง 5 กลไก ดังนี้

“กลไกแรก ฟ้าทะลายโจรจับกับตัวรับไวรัสที่เซลล์ปอด (ACE2 Receptor)

กลไกที่สอง ฟ้าทะลายโจร ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมได้ ที่เรียกว่า RNA-dependent RNA polymerase (RdRP)
(ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์ในกลไกนี้)

กลไกที่สาม ฟ้าทะลายโจร ยับยั้งเอนไซม์หลัก ที่เรียกว่า “เมนโปรตีเอส” Main Protease (Moro) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและแบ่งตัว

กลไกลที่สี่ ฟ้าทะลายโจรยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ตัดโปรตีนขนาดยาวที่ไวรัสสร้างขึ้นให้เป็นโปรตีนขนาดเล็กๆ ทำให้ยับยั้งไวรัสไม่สามารถสร้างสำเนาตัวใหม่ได้

กลไกลที่ห้า ฟ้าทะลายโจรจับกับโปรตีนส่วนหนาม โครงสร้างส่วนอกของไวรัสที่ใช้จับกับตัวรับที่เซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์ปอด
แต่จะเห็นได้ว่ากลไกข้างต้นเป็นการ “ยับยั้ง” การทำงกานของโควิด แล้วปล่อยให้การฆ่าเชื้อเป็นหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์

แต่ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความเป็นธรรมชาติของ “ผงหยาบ” ฟ้าทะลายโจรยังมีกากใยไฟเบอร์, สารคลอโรฟิลล์ (สีเขียว), ซิงค์(สังกะสี), และคอปเปอร์ (ทองแดง) ซึ่งไม่มีในสารสกัดยาแผนปัจจุบัน สารธรรมชาติเหล่านี้เป็นแร่ธาตุและโภชนาการระดับจุลภาคเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานดีขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่าทั้งโมลนูพิราเวียร์ กับฟาวิพิราเวียร์มีกลไกในการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อน้อยกว่ายาฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลองอย่างชัดเจน

ประการที่สอง ฟ้าทะลายโจรลดอัตราการเสียชีวิตดีกว่าโมลนูพิราเวียร์หรือไม่?

ข้ออ้างของบริษัท “เมอร์ค” ระบุในการแถลงข่าวว่าโมนูพิราเวียร์จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 50% แต่ฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในเรือนจำทั่วประเทศไทยส่งผลทำให้อัตราการเสียชีวิตในเรือนจำลดลงถึง 80% เทียบกับโรงพยาบาลนอกเรือนจำที่ไม่ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจร และให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์แทน ข้อมูลนี้มีคุณค่าเพียงพอที่รัฐบาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อหาข้อสรุปนี้เป็นงานระดับชาติหรือไม่

ประการที่สาม ฟ้าทะลายโจรลดอัตราความรุนแรงดีกว่าโมลนูพิราเวียร์หรือไม่?

กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะอ้าง ผลลการศึกษาของโมลนูพิราเวียร์จากผู้ป่วย 775 คน ในต่างประเทศเพื่อจะเตรียมใช้งบประมาณกว่า 4,600 ล้านบาท โดยอ้างผลการศึกษาว่า

ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ร้อยละ 7.3 ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกร้อยละ 14.4 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและในกลุ่มทดลองไม่มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว

เฉพาะตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าอาการความรุนแรงลดลงจากร้อยละ 14.4 เหลือร้อยละ 7.3 แปลว่าอัตราความรุนแรงลดลงไปประมาณ 50.7 หรือประมาณครึ่งหนึ่ง

แต่การทดสอบของกรมการแพทย์แผนไทยได้ทดสอบฟ้าทะลายโจร 309 คนแรกแล้วปรากฏว่าฟ้าทะลายโจรช่วยลดความเสี่ยงจากปอดอักเสบหรือเชื้อลงปอดจากร้อยละ 14 ของกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ใช้ยาฟ้าทะลายโจร(ใกล้เคียงกับตัวเลขของโมลนูพิราเวียร์) เหลือความเสี่ยงปอดอักเสบเพียงร้อยละ “0.97”

หมายความว่าอาการความรุนแรงในประเด็นสำคัญที่สุดคือ “ปอดอักเสบ” จากร้อยละ 14 เหลือร้อยละ 0.97 หรือคิดเป็นการลดความเสี่ยงปอดอักเสบได้มากถึงร้อยละ 93 เหนือกว่าการลดอัตราการป่วยร้อยละ 50 ของโมลนูพิราเวียร์อย่างชัดเจนหรือไม่ และไม่มีใครเสียชีวิตเลยเช่นกัน และใช้เวลา 5 วัน พอๆกับโมลนูพิราเวียร์ด้วยหรือไม่

ประการที่สี่ ฟ้าทะลายโจรคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกว่าโมลนูพิราเวียร์หรือไม่?

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีซื้อยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วย 200,000 คน

น่าสนใจคือหากจะซื้อมาสำหรับผู้ป่วย 200,000 คนๆ หนึ่งใช้งบประมาณ 23,100 บาท ก็ต้องใช้เงินมากถึง 4,620 ล้านบาท

แต่ถ้าใช้ยาฟ้าทะลายโจรแบบผงหยาบงบประมาณที่ใช้ 200,000 คน ใช้งบประมาณคนละ 100 บาท เราจะใช้งบประมาณเพียงแค่ 20 ล้านบาทเท่านั้น

ฟ้าทะลายโจร 1 คอร์ส จึงถูกกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ 60 เท่าตัว และถูกกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ถึง 231 เท่าตัว

จากเหตุลผลข้างต้นจึงสรุปข้อมูลเบื้องต้นของโอกาสฟ้าทะลายโจรได้ว่า

จากสถิติของผู้ป่วยในเรือนจำในประเทศไทย เป็นเบาะแสข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำไปสู่โอกาสที่พิสูจน์ได้ว่าฟ้าทะลายโจรจึงลดอัตราและจำนวนการเสียชีวิตดีกว่าหลายประเทศที่เป็นต้นแบบของฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่าประเทศไทย

จากข้อมูลเบื้องต้นพบผู้ป่วยในเรือนจำประเทศไทยที่มีการการฟ้าทะลายโจรเป็นยาหลักลดอัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงได้ดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์

จากข้อมูลจากหลอดทดลองด้วยสารสำคัญหลายชนิดในฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์ในการยับยั้งโควิดหลายกลไก มากกว่ายาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจรยังช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วย

และฟ้าทะลายโจรมีราคาถูก เข้าถึงง่ายกว่ายาฟาวิพิราเวียร์และโมนูพิราเวียร์ด้วย

การพึ่งพาตัวเองของชาวบ้าน

“ฟ้าทะลายโจร” จะเป็นคำตอบในการอยู่ร่วมกับโควิดโดยไม่ต้องล็อกดาวน์ได้หรือไม่

ด้วยอิทธิพลของการแพทย์ตะวันตก ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ไม่มีใช้ในประเทศที่ฉีดวัคซีน ทั้ง อิสราเอล สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีผู้ป่วยใช้ “ฟ้าทะลายโจร” ทั่วประเทศไทย

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่ฟ้าทะลายโจรไม่ขาดตลาดตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่า 10,000 คนต่อวันแล้ว ทั้งๆ ที่มีการคลายล็อกไปแล้วอย่างมาก

ในฐานะที่มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินได้แจกจ่ายฟ้าทะลายโจรไปเป็นจำนวนมาก เราพบข้อเท็จจริงบางอย่างที่ต้องรายงานให้ท่านผู้อ่านได้ทราบก็คือ

ประการแรก มีผู้ที่ได้รับฟ้าทะลายโจรแล้วหายป่วยเป็นจำนวนมาก และมีการบอกต่อๆ กันไปในการใช้ฟ้าทะลายโจรจนประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อฟ้าทะลายโจรขยายไปทั่ว

ประการที่สอง มีคนจำนวนมากที่ตรวจเบื้องต้นอย่างเร่งด้วยด้วยชุดตรวจ ATK และเมื่อตรวจพบเชื้อแล้ว ก็ต้องการจะเลือกการกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อใช้ฟ้าทะลายโจร

และส่วนใหญ่จะไม่รายงานภาครัฐ เพราะทราบกันมากขึ้นว่า หากรายงานภาครัฐและต้องไปอยู่ที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามก็จะกลัวว่าไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร หรือห้ามนำฟ้าทะลายโจรไปรับประทาน จึงตัดสินใจไม่รายงานภาครัฐเพื่อใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นจำนวนมาก

ประการที่สาม มีร้านค้าและบริษัทจำนวนมากเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ก็ใช้วิธีให้ผู้ป่วยกักตัวเองทันทีโดยไม่รายงานภาครัฐและใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษา เพราะกลัวว่าภาครัฐจะปิดกิจการทำให้เกิดความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าเดิม

ประการที่สี่ มีคนจำนวนมากเพียงแค่ป่วย แม้ยังไม่ได้ตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ ก็ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาหายป่วยได้เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยขนาดของยาที่ใช้ฟ้าทะลายโจรระหว่างหวัดธรรมดากับโควิดไม่แตกต่างกัน (ผงฟ้าทะลายโจร 6-12 กรัมต่อวันติดต่อกัน 5 วัน)

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงยิ่งเชื่อได้ว่าปรากฏการณ์ “กบฏฟ้าทะลายโจร” เกิดขึ้นแล้ว และเป็นผลทำให้ตัวเลขที่โรงพยาบาลติดเชื้อน้อยลง แม้ล็อกดาวน์แล้วความต้องการเตียงในโรงพยาบาลลดลง และที่สำคัญผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสัดส่วนการตรวจพบเจอเชื้อในการตรวจยังสูงอยู่

ดังนั้นประเทศไทยจึงโชคดีกว่าประเทศที่เน้นฉีดวัคซีน เพราะในเวลานี้ฟ้าทะลายโจรไม่ขาดตลาดแล้ว และจะสามารถทำให้ประชาชนดูแลตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพาหมอและโรงพยาบาลน้อยลง

และหากจะมีวิสัยทัศน์ในเรื่องฟ้าทะลายโจรแล้วจะมีโอกาสที่จะทำให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโควิดมากที่สุด ด้วยเงื่อนไข 3 ประการ

ประการแรก ถ้าเป็นยาที่สามารถรักษาโรคโควิดให้หายได้

ประการที่สอง ถ้าสามารถรักษาให้หายได้โดยง่าย

ประการที่สาม มีราคาไม่แพง และประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย

ยาฟ้าทะลายโจรกับโมลนูพิราเวียร์มีเงื่อนไขและขอบเขตการรักษาทับซ้อนกันอย่างแน่นอน เพราะยาทั้งสองนี้ใช้ในช่วงอาการน้อยแต่เริ่มแรก และต้องรีบประทานให้เร็ว ใช้เวลาประมาณ 5 วัน แต่ราคาต่างกันอย่างมากมายมหาศาล ถ้ารัฐบาลมองออกในประเด็นนี้และเอาประโยชน์ประเทศชาติเป็นตัวตั้ง ย่อมต้องสนับสนุนฟ้าทะลายโจรให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามการจะพิสูจน์ฟ้าทะลายโจรที่มีการใช้กับผู้ป่วยจริงแล้วจำนวนมากซึ่งอยู่นอกระบบ จำเป็นอย่างย่ิงที่จะต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเพื่อนำทางฝ่าอคติทางวิชาชีพและผลประโยชน์ของบริษัทยาทั้งหลายเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษพันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต