วัดสุวรรณาราม หรือ วัดทอง บางกอกน้อย กทม. เป็นวัดโบราณที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาในสมัยรัตนโกสินทร์ นับเป็นวัดสำคัญและมีความโดดเด่นโดยเฉพาะ 'งานจิตรกรรมฝาผนัง' ในพระอุโบสถ อันเป็นผลงานของจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3
นอกจากนี้ยังเป็นที่กล่าวขานในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องถึง “พระปิดตามหาอุตม์” ของ พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี หรือ หลวงปู่ทับ อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ 9 ที่เป็นที่เลื่องลือทั้งด้านพุทธคุณเป็นเลิศและพุทธศิลปะอันงดงามจากจินตนาการปั้น ยากที่จะหาพระปิดตาองค์ใดในยุครัตนโกสินทร์เทียบได้ จนได้รับการยกย่องในเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคี “พระปิดตายอดขุนพล” หรือ “พระปิดตาเนื้อโลหะ" ที่ปัจจุบันมีค่านิยมสูงส่ง และยากที่จะหาไว้ครอบครอง
พ่อทับบัวเศียรแหลม
หลวงปู่ทับเริ่มสร้าง “พระปิดตามหาอุตม์” เมื่อปี พ.ศ.2442-2453 ซึ่งมีทั้ง เนื้อสำริดเงิน, เนื้อชินตะกั่ว, เนื้อเมฆพัตร, เนื้อสำริดแบบขันลงหิน, เนื้อผงคลุกรัก, เนื้อผงใบลาน และเนื้อแร่บางไผ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเนื้อพิเศษที่พบเห็นได้น้อยหายาก ด้วยท่านได้เนื้อแร่บางไผ่มาจากหลวงปู่จัน วัดโมลี ต้นฉบับพระปิดตาแร่บางไผ่ แห่งนนทบุรี เนื้อที่มีค่านิยมสูง คือ เนื้อสำริดเงิน ผิวนอกขององค์พระมีวรรณะแดงปนทองคล้ายสีนาค ถ้าใช้แว่นขยายส่องดูจะเห็นเป็นเกล็ดสีทองแพรวพราวทั้งองค์ ส่วนตามซอกที่เราสัมผัสไม่ถึงก็จะมีประกายทองผิวปรอทจับอยู่ประปราย ส่วนด้านที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ จะปรากฏผิวคราบดำอมเทาเคลือบอยู่อีกชั้นหนึ่ง แลดูสวยงามลึกซึ้ง ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก
พระครูทับยันต์ยุ่งเศียรบาตรหน้า
พระปิดตามหาอุตม์ของหลวงปู่ทับ ส่วนมากจะเป็นแบบลอยองค์ นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ที่ล้วงปิดทวาร จะล้วงลงทางด้านในไม่ผ่านพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) จึงทำให้เห็นลักษณะการขัดสมาธิเพชรได้เด่นชัด ด้านข้างไม่ปรากฏรอยตะเข็บ และแม้จะเป็นพระพิมพ์เดียวกันก็ตาม อย่างเช่น พิมพ์เศียรโตยันต์ยุ่ง พิมพ์เศียรบายศรี พิมพ์ยันต์ย่อง พิมพ์ตุ๊กตา ซึ่งต่างก็มีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกองค์ แต่จะไม่เหมือนกันเลยทั้งรูปองค์และลวดลายของอักขระยันต์ จะหาผู้อื่นใดมาลอกเลียนสร้างให้เหมือนได้ยาก อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่จะลอกเลียนแบบให้เหมือนได้ยาก การกำหนดเลขยันต์ที่จะบรรจุลงบนพระ ท่านก็จะเลือกอักขระที่เหมาะสมมีความหมาย มีอำนาจแห่งพุทธาคม บรรจุลงตามส่วนต่างๆ ขององค์พระ เว้นช่องไฟได้เหมาะเจาะสวยงาม
พระปิดตามหาอุตม์ที่ท่านสร้างนั้นมีหลายพิมพ์ แบ่งออกได้เป็น 4 พิมพ์ใหญ่ๆ คือ พิมพ์นั่งบัว, พิมพ์บายศรี, พิมพ์ตุ๊กตา และ พิมพ์ยันต์ยุ่ง โดยยังแยกออกเป็นพิมพ์ย่อยและมีหลายขนาด แต่ก็ ซึ่งล้วนได้รับความนิยมทั้งสิ้น แต่ที่ได้รับการบรรจุในเบญจภาคีพระปิดตา คือ พิมพ์ยันต์ยุ่งเศียรบาตร และพิมพ์ยันต์น่อง
พระครูทับยันต์ยุ่งเศียรบาตรหลัง
“พิมพ์ยันต์ยุ่ง” องค์พระประทับนั่ง ขัดสมาธิเพชร บางองค์มีพระกร 3 คู่ บางองค์มีถึง 4 คู่ โดยคู่แรกยกขึ้นปิดพระพักตร์ คู่ที่สองยกมือขึ้นปิดพระกรรณ คู่ที่สามล้วงลงปิดทวารหนักและทวารเบา คู่ที่สี่ปิดพระนาภี (สะดือ) องค์พระมีทั้งลักษณะต้อ บางองค์เข่ากว้าง บางองค์เข่าแคบ ซึ่งแยกออกได้เป็น ยันต์ยุ่งเศียรบาตร, ยันต์ยุ่งต้อ เข่ากว้าง, ยันต์ยุ่งชะลูด เข่าแคบ และ พิมพ์ตุ๊กตา และพระปิดตาพิมพ์ยันต์ยุ่งองค์ใดมีอักขระขอมปรากฏตรงพระเพลาและพระชงฆ์ ก็จะเรียกว่า "พิมพ์ยันต์น่อง"
ด้านหลังองค์พระตรงกลางเป็นยันต์เฑาะว์อุณาโลมหางสะบัดขึ้นด้านบนเศียร หรืออาจเป็นตัวอักขระขอมตัวอื่น ด้านข้างตัวเฑาะว์อุณาโลมเป็นตัวอุณาโลมขนาบข้าง 2 ตัว ด้านล่างเป็นอักขระว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้ฐานองค์พระเป็นแอ่งลึก
พุทธคุณ
เด่นทาง เมตตามหานิยม และมหาอุตม์
พระคาถาที่มีนิยมใช้อาราธนาพระปิดตา
.
นะโมพุทธัสสะ คะวัมปะติสสะ
นะโมธัมมัสสะ คะวัมปะติสสะ
นะโมสังฆัสสะ คะวัมปะติสสะ
สุขา สุขะ วะรัง นะโมพุทธายะ
มะอะอุ ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา เจวะ เสกขา ธัมมา ยะธาพุทโมนะ ฯ
ผู้ภาวนาย่อมเป็นโภคทรัพย์ เจริญด้วยโชคภาลเมตตามหานิยม
พระคาถาพิมพ์พระภควัมปติ "ปิดตา"
.
ควัมปติ จะ มหาเถโร มหาโภโค มหาลาโภ เชยยะสิทธิเม
โลกุตตะโร จะ มหาเถโร อะหัง วันทามิตัง สะทา ควัมปติ จะ มหาเถโร มหาโภโค มหาลาโภ เชยยะสิทธิเม
การพิจารณาเช่าพระปิดตาหลวงปู่ทับ
พระปิดตาหลวงปู่ทับที่ผ่านการใช้มาแล้ว เนื้อพระจะกลับดำทุกองค์ และข้อสังเกตประการสำคัญ คือ พระทุกองค์จะต้องไม่มีรอยตะเข็บ และเส้นยันต์จะค่อนข้างกลมเหมือนเส้นขนมจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถจดจำได้ว่าเป็นของท่าน ทุกพิมพ์ล้วนเป็นที่เสาะแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องสนนราคาก็แพงลิบลิ่ว
หลวงปู่ทับ อินทโชติ เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2390 ณ บ้านคลองชักพระ บางกอกน้อย เป็นบุตร นายทิมและนางน้อย ปัทมานนท์
อายุได้ 17 ปี บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ของพระปลัดแก้ว ซึ่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม เพื่อเป็นศิษย์ร่ำเรียนหนังสือไทยและขอม
อายุ 18 ปี บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระปลัดแก้ว และศึกษาเพิ่มเติมกับ พระอาจารย์พรหมน้อย และพระครูประสิทธิ์สุตคุณ ที่วัดอัมรินทร์อีกด้วย
เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทที่วัดช่างเหล็ก คลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี โดยมี พระอธิการม่วง วัดตลิ่งชัน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดแก้ว วัดทอง และ พระอาจารย์พึ่ง วัดรวก เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “อินทโชติ” แล้วกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดทอง หากแต่ได้ร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐานและวิชาพุทธาคม ไสยศาสตร์จากพระอุปัชฌาย์มิได้ขาดจนกระทั่งสำเร็จ
ท่านยังใฝ่ศึกษาหาความรู้ เมื่อทราบว่าอาจารย์รูปใดที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะใกล้ไกลท่านก็ดั้นด้นไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ จนสำเร็จสมดังตั้งใจ
หลวงปู่ทับมรณภาพเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2456 สิริอายุ 66 ปี พรรษา 45
#คาถาพระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง
#พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทองพิมพ์ทุกพิมพ์
#ปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง พิมพ์เล็ก
#พุทธคุณพระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง
#พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทองเนื้อผงคลุกรัก
#พระ ปิด ตา หลวงพ่อทับ วัดทอง รุ่น 2
#พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทองเนื้อตะกั่ว
#พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทองพิมพ์นั่งบัวเศียรแหลม
ข้อมูลอ้างอิง
https:// siamrath.co.th/n/125942