พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
จากหลักฐานแผ่นลานทองซึ่งแปลออกมาแล้ว กล่าวว่า มีฤๅษี 11 ตน มีพระฤๅษีพิมพิลาไลย พระฤๅษีตาไฟ พระฤๅษีตาวัว เป็นประธานได้สร้างพระพิมพ์โดยนำเอาว่านยาที่มีฤทธิ์กับเกสรดอกไม้และแร่ต่าง ๆ แล้วทำเป็นพระพิมพ์ สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ และพิมพ์ลายมือของท่าน มหาเถระปิยะทัสสี ศรีสารีบุตร ผู้เป็นประธาน และยังได้นำแร่ธาตุต่าง ๆ หล่อเป็นพระพิมพ์ ท่านได้กล่าวว่า มีอนุภาพป้องกันอันตรายได้ ดุจดังกำแพงแก้ว ป้องกันให้ปลอดภัย จากนั้นในลานทองยังกล่าวถึงคุณวิเศษของพระผงสุพรรณว่า
ถ้าผู้ใดได้พบเห็นให้เอาไปไว้สักการะบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ จะคุ้มครองอันตรายได้ทั้งปวง
พระผงสุพรรณ เป็นพระเครื่องศิลปะอู่ทอง แบ่งออกเป็น 3 พิมพ์
- พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่
- พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง
- พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม
เนื้อพระผงสุพรรณ
- เนื้อดิน/มีสีแดง ดำ เหลือง เขียว ด้านหลังมีรอยนิ้วมือกดพิมพ์
- เนื้อชินเงิน จะเรียกว่า พระสุพรรณยอดโถ มีทั้งแม่พิมพ์ตัวเดียวกับเนื้อดิน และแม่พิมพ์คนละตัวกับเนื้อดินก็มี ด้านหลังเป็นแอ่งและเป็นรอยตารางลายผ้า
จุดสังเกตพระผงสุพรรณ กรุวัดมหาธาตุ (ด้านหน้า)
1) ขอบตัดขององค์พระเป็นทรงห้าเหลี่ยม ขอบตัดด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระตัดได้กว้าง ทำให้องค์พระประธานมีความสมบูรณ์ทั้งซ้ายและขวา สำหรับส่วนยอดเป็นทรงห้าเหลี่ยม ซึ่งเป็นทรงที่สวยงามที่สุดของพระผงสุพรรณ
2) กระจังหน้ายกสูงชัด โดยมีเส้นพรายน้ำที่เกิดจากการถอดแม่พิมพ์ เกิดรอยเหนอะระหว่างกระจังและหน้าผากขององค์พระ มีเนื้อว่านอัมฤทธิ์จับแน่น เน้นให้กระจังมีความคมชัดมากยิ่งขึ้น
3) กลางหน้าผากขององค์พระเป็นรอยยุบลงเป็นรูปสามเหลี่ยม มีว่านอัมฤทธิ์จับแน่นให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อันเนื่องจากมีโหนกคิ้วทั้งซ้ายและขวาตามพุทธศิลป์ขององค์พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่
4) โหนกคิ้วซ้ายขององค์พระจะยกสูงกว่าโหนกคิ้วขวาขององค์พระ และยกเชื่อมต่อมายังสันจมูกขององค์พระ
5) นัยตาด้านซ้ายขององค์พระจะโปนเป็นทรงกลมรี โดยมีว่านอัมฤทธิ์จับที่ขอบนัยตาเน้นทำให้เห็ได้ชัดเจนมากขึ้นครับ
6) นัยตาด้านขวาขององค์พระจะตื้นและดูโบ๋ลง อันเนื่องมาจากว่านอัมฤทธิ์จับอยู่ในขอบเบ้าตา
7) จมูกขององค์พระจะยกสูงและไปเชื่อมต่อกับโหนกคิ้วด้านซ้ายขององค์พระ กลายเป็นพุทธศิลป์ของพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่
8) ริมฝีปากสองชั้นจากปลายจมูกลงมาจรดค้างที่ต้นคอบนพื้นขององค์พระทำให้ไม่มีลำคอ
9) อกขององค์พระเป็นจุดที่สูงที่สุดขององค์พระ เป็นทรงเหมือนหัววัว โดยเชื่อมต่อที่เอวทรงกิ่วผอมลง
10) ที่หัวไหล่ด้านซ้ายจะเป็นรอยสามเหลี่ยมบุ๋ม มีว่านอัมฤทธิ์จับอยู่แน่น อันเป็นพุทธศิลป์ของพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่
11) ใต้อกด้านซ้ายมือขององค์พระ จะมีตำหนิสามเม็ด แต่มีน้ำว่านอัมฤทธิ์จับอยู่เต็ม จึงต้องตะแคงดูข้าง ๆ จึงจะสามารถเห็นตำหนิสามเม็ด ซึ่งถือเป็นตำหนิสำคัญของพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่
12) ตำหนิเม็ดตุ่มที่ใต้อกด้านขวาขององค์พระ จะเห็นชัดแต่ถูกห่อทับไว้ด้วยว่านอัมฤทธิ์ ต้องตะแคงด้านข้างส่องดูจึงจะสามารถเห้นได้อย่างชัดเจน
13) ช่องท้องขององค์พระจะเป็นร่องกลาง มีว่านอัมฤทธิ์จับเน้นให้เห็นชัด
14) ตำหนิตุ่มใต้หน้าแข้งด้านซ้ายขององค์พระ
15) มือขวาเป็นมือใหญ่วางบนที่ตัก มีนิ้วกางออก
16) หัวเข่าด้านขวามือขององค์พระจะติดเต็มครับ
17) หัวเข่าด้านซ้ายมือขององค์พระติดเต็มเช่นกัน
18) พื้นขององค์พระทั้งองค์มีผิวขรุขระอันเกิดจากแม่พิมพ์ที่เป็นไม้ครับจะเห็น มีว่านอัมฤทธิ์ติดเต็มและมีการกระเทาะหลุดออกมาตามธรรมชาติ
จุดสังเกตพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เนื้อแดงชุบว่านอัมฤทธิ์ กรุวัดมหาธาตุ (ด้านหลัง)
พิมพ์ด้านหลังเป็นลายนิ้วมือซึ่งกดให้เนื้อดินแน่น จะเห็นมีคราบน้ำว่านอัมฤทธิ์ติดเต็ม มีขอบขององค์พระที่ปลิ้นขึ้นตามธรรมชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของการดูพระแท้
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ ที่ตัดขอบกว้างเป็นทรงห้าเหลี่ยม ทำให้องค์พระติดพิมพ์ได้อย่างสมบูรณ์ทุกด้าน สังเกตได้จากหัวเข่าซ้ายและขวาจะสมบูรณ์ หูข้างซ้ายและขวาก็จะสมบูรณ์เช่นกัน นับว่าเป็นพระที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดองค์หนึ่งเท่าที่ผมเคยเห็นมา
พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่องค์นี้ ยังมีความพิเศษก็คือเป็นพระที่พระฤาษีได้ทำพิธีบวงสรวงเพิ่มเติมโดยการชุมว่านอัมฤทธิ์อีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำพระทั้งหมดไปบรรจุลงในกรุพระเจดีย์ ว่านอัมฤทธิ์นี้คือว่าน 108 ชนิด นำมาตำให้ละเอียดเป็นน้ำว่านเหนียว ๆ เมื่อนำพระชุบลงในน้ำว่านอัมฤทธิ์ น้ำว่านก็จะจับและซึมเข้าไปในเนื้อพระ และกากว่านอัมฤทธิ์ก็จะจับบนผิวพระอย่างแน่น
ซึ่งต่างกับพระดินเผาในลานทุ่งเศรษฐี อย่างพระซุ้มกอและพระลีลาเม็ดขนุน พระลีลาพลูจีบที่ซัดด้วยน้ำว่านเศรษฐี ซึ่งจะมีเพียงน้ำว่านที่จับซึมเข้าไปในเนื้อพระดินเผา แต่จะไม่ปรากฎกากว่านอัมฤทธิ์ที่จับอยู่บนองค์พระดินเผา จึงจะดูเหมือนกับจับด้วยชานหมาก เมื่อพระมีอายุนานกว่า 600 ปี ผิวของพระผงสุพรรณที่ชุบด้วยน้ำว่านอัมฤทธิ์ก็จะมีผิวว่านจับแน่นเกือบทั้งองค์ จะมีส่วนที่กระเทาะหลุดออกบ้าง ในส่วนสูงขององค์พระเป็นเพียงน้ำว่านที่จับแน่นในเนื้อพระเป็นมันแวววาว มีคุณค่ายิ่ง
สำหรับคุณค่าที่มีมากยิ่งขึ้นไปอีกก็เนื่องมาจากการทำพิธีบวงสรวงปลุกเสกเพิ่มเติม และเนื้อว่านอัมฤทธิ์ที่จับแน่นบนพื้นผิว ทำให้ส่วนสูงขององค์พระดูเด่นสง่าขึ้นเป็นอย่างมากเลยครับ สำหรับตำหนิแม่พิมพ์นั้น เป็นการเน้นให้เห็นถึงพุทธศิลป์ และตำหนิแม่พิมพ์ที่เหมือนกันกับพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ที่ผมเคยได้ชี้ให้แฟนเพจแฟนคอลัมน์ได้ชมกันไปแล้ว
#พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ องค์ครู
#พระผงสุพรรณหน้าแก่ราคาเท่าไหร่
#พระผงสุพรรณ ปลอม
#พระผงสุพรรณ พุทธคุณ
#พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่เนื้อดำ
#พระผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง
#พระผงสุพรรณพิมพ์หน้านาง
#พระผงสุพรรณ องค์แชมป์
ข้อมูลอ้างอิง
Weera Kiawpoungngoen