เหรียญหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท
หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” พระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ วัตถุมงคลของท่านล้วนแต่เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น
สำหรับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 นับเป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูง ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม พุทธคุณเป็นที่ปรากฏ และยังเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่มีรูปเหมือนของหลวงปู่ศุข
เป็นหนึ่งในห้า ทำเนียบ "เบญจภาคีเหรียญ" ที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ในการสร้างเหรียญ
ท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของมารดา เป็น “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมี” ผู้ที่ได้รับเหรียญไปบูชา เกิดปาฏิหาริย์ปรากฏด้านอยู่ยงคงกระพันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเขี้ยวงา อีกทั้งภยันตรายต่างๆ ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณโด่งดังขจรไกล
เนื้อหามวลสาร
หลวงปู่ศุข มักจะใช้เนื้อตะกั่วเป็นพื้น เพราะการสร้างและหล่อหลอมตลอดจนวัสดุที่นำมาสร้าง หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น
พุทธลักษณะ
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปไข่กลม ห่วงเชื่อม
พิมพ์ด้านหน้า
มีเพียงหนึ่งพิมพ์ ขอบเหรียญโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น ชั้นนอกหนา ชั้นในเรียวเล็ก
ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ศุข นั่งเต็มองค์แบบสะดุ้งกลับ ครองผ้ารัดประคด อยู่เหนืออาสนะลายผ้า รองรับด้วยรูปโบหางแซงแซว ระบุ พ.ศ.ที่สร้างไว้อย่างชัดเจนคือ “๒๔๖๖”
ด้านบนโดยรอบมีอักษรภาษาไทยจารึกสมณศักดิ์และชื่อวัดอย่างชัดเจนว่า “พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า”
ด้านข้างของรูปเหมือนทั้งสองข้างมีอักขระขอมตัว “อุขึ้น อุลง”
พิมพ์ด้านหลัง
โดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 3 เส้น ระหว่างช่องว่างประดับด้วยเม็ดไข่ปลาลักษณะเป็นตุ่มนูน
ตรงกลางทำเป็น “ยันต์ 3” หมายถึง พระไตรสรณคมน์ ล้อมยันต์ด้วยหัวใจธาตุ คือ “นะ มะ อะ อุ”
ด้านบนเป็นคาถาพระเจ้า 5 พระองค์คือ “นะ โม พุท ธา ยะ”
ส่วนอักขระด้านล่างยันต์ คือ “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”
บล็อกที่ใช้พิมพ์
มีทั้งสิ้น 4 พิมพ์ ได้แก่
1) พิมพ์หลังไม่มี “อุ”
เป็นพิมพ์นิยม หนึ่งในเบญจภาคีเหรียญพระสงฆ์
2) พิมพ์หลังมี “อุ (เล็ก)”
คือ จะมีอักขระขอมตัว “อุ (เล็ก)” แทรกอยู่หน้าตัว “นะ” และหลังตัว “ยะ”
3) พิมพ์หลังมี “อุ (ใหญ่)”
เช่นเดียวกับพิมพ์ที่ 2 แต่ตัว “อุ” จะใหญ่กว่า
4) พิมพ์หลัง “อุ และมีดาว”
พุทธคุณ
ครอบจักรวาล โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี
จุดสังเกตเหรียญหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 บล็อกหลังไม่มีอุ (ด้านหน้า)
1.ใบหูด้านขวาแกะลอยห่างแก้ม แต่ใบหูด้านซ้ายแกะเป็นสันนูนติดแก้ม
2.คำว่า "พระครู" ปลายหางตัว "ค" มีขีดเกินเล็ก ๆ และเหนือหัวไหล่มีกลุ่มจุด 3 จุดหรือมากกว่านั้น
3.หูเชื่อมด้วยตะกั่วเก่าตามธรรมชาติและพื้นเหรียญต้องตึงตัวตามธรรมชาติ
4.หน้าผากและใบหน้าคมชัด
5.มือขวาเป็นร่องคม ๆ ตรงปลายนิ้วมาชนกันแหลม ๆ
6.นิ้วเท้าของหลวงปู่มี 3 นิ้ว โดยเฉพาะนิ้วโป้งต้องใหญ่ ๆ ชัด ๆ
จุดสังเกตเหรียญหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 บล็อกหลังไม่มีอุ (ด้านหลัง)
7.มีขอบซ้อนด้านหลังเหรียญและขอบคม ๆ บางเหรียญมีเนื้อปลิ้น เพราะแรงกระแทกจากการปั๊ม
8.ในกรณีบล็อกเขยื้อนจะมีเส้นบาง ๆ ขนานเส้นเหรียญด้านใน แต่ในเหรียญที่คมชัดอาจจะไม่มี
"พระครูวิมลคุณากร" หรือ "หลวงปู่ศุข เกสโร" เกิด พ.ศ. 2390 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านมะขามเฒ่า (ปัจจุบันเรียก บ้านปากคลอง) ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ในวัยหนุ่มท่านเคยได้แต่งงานกับหญิงสาวจนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน
เมื่ออายุได้ 22 ปี ท่านได้ตัดสินใจอุปสมบทเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ทองล่าง จ.นนทบุรี โดยมีพระอธิการเชย จันทสิริ เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านก็จำพรรษาอยู่ที่นี้
หลวงปู่ศุข ท่านได้อยู่ปรนนิบัติอาจารย์ ซึ่งเป็นพระที่เคร่งครัดในด้านวิปัสสนา จึงได้ศึกษาพระธรรมวินัยและเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนเวทมนตร์คาถา
ต่อมาท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ปทุมวัน เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม และย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามบางลำพู ณ ที่นี่ท่านได้พบกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ได้ศึกษาวิชาต่างๆ ร่วมกัน ท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ
ต่อมาปี พ.ศ. 2435 ท่านได้ธุดงธ์เข้าเขตชัยนาทมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านต่างพากันเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติและพระเวทวิทยาคมของท่าน
ท่านได้มีศิษย์เอกเป็นถึงเชื้อพระวงศ์ คือ "กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์จนหมด รวมถึงมีตำนานเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ที่ได้นำผ้าเจียดจากหลวงปู่ศุขไปแจกให้แก่ทหารเรือ เพื่อทำการทดลองอาคม โดยมี "ยัง หาญทะเล" ซึ่งเป็นทหารคนสำคัญ เป็นผู้รับอาสาทดลอง และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสิริ "หลวงปู่ศุข" มรณภาพ อายุได้ 76 ปี นับพรรษาได้ 54 พรรษา วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ 7 วัน 7 คืน จึงประชุมเพลิง
แม้ "หลวงปู่ศุข" จะละสังขารมาล่วงกว่า 100 ปีแล้ว แต่ท่านยังเป็นที่เคารพศรัทธาจากชาวชัยนาทและลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ ด้วยท่านเป็นพระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า จนได้รับสมญา “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นพระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงให้ความเคารพนับถือและมีความใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้างล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูง ด้วยพุทธคุณเป็นเลิศ โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และยังคงเป็นที่กล่าวขานและแสวงหามาจวบจนปัจจุบัน
#เหรียญหลวงปู่ศุข 2466 ย้อนยุค
#เหรียญหลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า
#เหรียญหลวงปู่ ศุ ข 2469
#เหรียญหลวงปู่ ศุ ข 2466 ปลอม
#เหรียญ หลวงปู่ ศุ ข ทุก รุ่น ราคา
#หลวงปู่ศุข ราคาแพงที่สุด
#เหรียญหลวงปู่ศุข ราคา
#เหรียญหลวงปู่ศุข 2466 เนื้อเงิน
ข้อมูลอ้างอิง
https:// siamrath.co.th/n/199828
วิกิพีเดีย