ไลเบอริก้า กาแฟที่ถูกมองว่าด้อยค่ากว่า อาราบิก้า และ โรบัสต้า แต่เมื่อ "โกปี๊เตี่ยม" ซาราวักของมาเลเซีย ใช้กาแฟไลเบอริก้าที่หาได้จากท้องถิ่น ทำเมนูกาแฟร้อนหรือเย็นใส่นมข้นหวานเป็นตัวชูโรง
ในอดีต ถ้านับบรรดาสายพันธุ์กาแฟแล้ว ไลเบอริก้า ถูกมองข้าม เช่นเดียวกันกับประเทศมาเลเซียที่ถูกมองด้วยสายตาเดียวกันในฐานะแหล่งปลูกกาแฟที่ไม่โดดเด่นอะไร แต่นั่น...อาจเป็นเพียงมุมมองในอดีตที่จะเปลี่ยนไปนับจากนี้
ประเทศมาเลเซียติดอันดับที่ 60 ของโลกในแง่ของปริมาณการผลิตกาแฟ คิดเป็นอัตราส่วนก็เพียง 0.16 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งดูๆ ไปแล้วแทบไม่มีอะไรที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลกอย่างกาแฟ แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นอยู่ตรงที่มาเลเซียปลูกกาแฟสายพันธุ์ "ไลเบอริก้า" (Liberica) ถึง 90-95 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ที่เหลือก็เป็นสายพันธุ์ "อาราบิก้า" (Arabica) และ "โรบัสต้า" (Robusta)
แต่สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ สายพันธุ์กาแฟ "อาราบิก้า" และ "โรบัสต้า" ที่ปลูกกันน้อยในประเทศกลับถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่สายพันธุ์ "ไลเบอริก้า" ที่ปลูกกันมากกลับบริโภคกันเองภายในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่
ไม่ต่างไปจากแหล่งปลูกทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สายพันธุ์กาแฟที่ปลูกกันมากก็คงไม่พ้นไปจากโรบัสต้าและอาราบิก้า ซึ่งจัดว่าเป็นกาแฟยอดนิยม 2 สายพันธุ์หลักๆ ขณะที่อีก 2 สายพันธุ์ไม่ได้รับการกล่าวถึงกันมากนัก และยังไม่ได้รับความนิยมเท่าใด แต่ก็มีปลูกกันในหลายพื้นที่ของโลก ก็คือ ไลเบอริก้า กับ "เอ็กเซลซ่า" (Excelsa) จึงมักถูกนำไปผสมกับสายพันธุ์ยอดนิยมเพื่อปรุงแต่งรสชาติ
ในส่วนของไลเบอริก้าที่มีชื่อเรียกว่า "กาแฟใบใหญ่" นั้น นอกจากมาเลเซียที่ปลูกกาแฟกันมากมาแล้ว ก็มีฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ปลูกอยู่เช่นกัน ตามด้วยบางพื้นที่ในศรีลังกา, อินเดีย, เวียดนาม, ไต้หวัน และติมอร์ แต่สัดส่วนพื้นที่ปลูกน้อยกว่ามาเลเซียมากมายนัก ที่เมืองไทยเรา ทราบว่า มีไร่ “กาแฟไลเบอริก้า” อยู่ที่นิคมดอยเชียงดาว ในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเหมือนกัน
อย่างที่ทราบกันดีว่า ต้นกำเนิดของสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกกันทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ มาจากกาแฟป่าที่เติบโตตามธรรมชาติในเอธิโอเปีย แต่สาเหตุที่ต้นกาแฟแพร่หลายออกไป กลายเป็นพืชเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าในปัจจุบัน ก็เพราะเมื่อหลายร้อยปีก่อน บรรดาชาติมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย เป็นผู้นำทั้งเมล็ดและต้นกล้ากาแฟออกจากทวีปแอฟริกา เข้าไปปลูกยังอาณานิคมของตนเองที่เห็นว่ามีทั้งสภาพภูมิอากาศและดินที่เหมาะสมต่อการปลูก ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า "Bean Belt" หรือแถบพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรที่ปลูกกาแฟได้ใน 3 ทวีปของโลก ได้แก่ ทวีปอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 คนอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมในมาเลเซีย ก็ได้นำสายพันธุ์ “ไลเบอริก้า” เข้าไปปลูกในรัฐซาราวัก เป็นหนึ่งใน 2 รัฐของมาเลเซียที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ประกอบด้วยป่าฝนเขตร้อนส่วนใหญ่ ป่าฝนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์บางชนิดเช่นแรดสุมาตรา, สุมาตราลิงอุรังอุตัง, ลิงงวงและช้างแคระบอร์เนียว ขณะเดียวกัน ก็เป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซเป็นจำนวนมากซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ในรัฐซาราวักนั้น มีศูนย์กลางการทำธุรกิจกาแฟอยู่ที่เมือง "กูชิง" เมืองวัฒนธรรมร่วม "โกปี๊เตี่ยม" หรือร้านขายอาหารที่มีเครื่องดื่มจำพวกชาและกาแฟจำหน่าย มีเมนูกาแฟร้อนหรือเย็นใส่นมข้นหวานเป็นตัวชูโรง จัดเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มกาแฟแบบดั้่งเดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ไทย, สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย อาจจะใช้กาแฟอาราบิก้าหรือโรบัสต้าเป็นตัวยืน แต่ที่ซาราวักของมาเลเซียต่างออกไป เพราะใช้กาแฟไลเบอริก้าที่หาได้จากท้องถิ่นนั่นเอง
อย่างในเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงของมาเลเซีย เช่น "กาแฟขาว" (White Coffee) ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม โดยนำมาการีนเข้าไปใส่ระหว่างขั้นตอนการคั่วกาแฟนั้น ตัวผู้เขียนเองก็เพิ่งทราบว่า บางบริษัทที่ผลิตกาแฟขาวก็ใช้เมล็ดกาแฟไลเบอริก้าด้วยเช่นกัน
ว่ากันตามจริง ผลผลิตของกาแฟไลเบอริก้าคิดเป็นเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ของกาแฟทั้งโลกเท่านั้น เทียบกันไม่ได้เลยกับสายพันธุ์ที่ครองเจ้าตลาดอยู่อย่างอาราบิก้าที่มีปริมาณการผลิตถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของทั่วโลก ส่วนอีกประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ ตกเป็นของโรบัสต้า
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปริมาณคาเฟอีนในกาแฟนั้น กลับมีข้อมูลว่า “สายพันธุ์ไลเบอริก้า” มีคาเฟอีนต่ำกว่า 2 สายพันธุ์ยอดนิยม โดยมีคาเฟอีนอยู่ที่ 1.23 กรัมต่อปริมาณกาแฟ 100 กรัม ส่วนอาราบิก้าอยู่ที่ 1.61 กรัม และโรบัสต้ามี 2.26 กรัม
เนื่องจากเป็นสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกกันน้อยมาก ผลผลิตก็เลยมีน้อยตามไปด้วย ส่งผลให้กลายเป็นของหายากไป ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะหา “กาแฟไลเบอริก้า” มาดื่มกันตามร้าน อย่างว่าแต่ตามเว็บออนไลน์ก็ยังมีจำหน่ายเพียงไม่กี่แบรนด์เอง เลยทำให้ราคากาแฟ “ไลเบอริก้า” โดยเฉพาะที่ผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปมาอย่างพิถีพิถันตามแบบฉบับของ "กาแฟพิเศษ" (Specialty Coffee) จึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกาแฟอาราบิก้าเลยทีเดียว แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกาแฟพิเศษอาราบิก้า
เดิมทีนั้นกาแฟ “ไลเบอริก้า” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในไลบีเรีย ทางแอฟริกาตะวันตก จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "กาแฟไลบีเรียน" (Liberian coffee) นอกจากนั้นยังพบสายพันธุ์นี้ในยูกันดาและแองโกล่า ก่อนที่จะถูกนำเข้าไปปลูกยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงศตวรรษที่ 19 ทั้งในมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ จนกลายเป็นสายพันธุ์ของ 2 ประเทศนี้ไป ขณะเดียวกันก็ถูกนำไปปลูกในบางพื้นที่ของอินโดนีเซียด้วย เพื่อทดแทนสายพันธุ์อาราบิก้าที่ตายไปเป็นจำนวนมากจากโรคราสนิม
ในมาเลเซียเรียกกาแฟไลเบอริก้าในภาษาท้องถิ่นว่า "โกปี๊ ดายัค" ในอินโดนีเซียเรียกว่า "โกปี๊ นังกา" ส่วนฟิลิปปินส์เรียก "โกเป บาราโก"
ต้นกาแฟ “ไลเบอริก้า” เป็นพันธุ์ไม้พุ่ม แต่ก็สูงได้ถึง 19 เมตร เรียกว่าต้องมีใช้บันไดปีนขึ้นไปเก็บผลสุกกันบ้างละ ใบและผลใหญ่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า มีเปลือกผลกาแฟที่แข็ง ทำให้มีความต้านทานต่อแมลงเจาะผลได้ดี เติบโตได้ในเขตร้อนชื้น ปริมาณน้ำฝนมาก และอุณหภูมิสูง ต้องการร่มเงาเล็กน้อย มีระบบรากที่ลึกซึ่งหมายความว่าเข้าถึงน้ำได้ลึกกว่ากาแฟพันธุ์อื่น ดังนั้นจึงสามารถปลูกได้ในดินประเภทต่างๆ จากดินร่วนจนถึงดินเหนียว ทนทานต่อดินเลวและดินขาดการดูแลบำรุงรักษาได้ดีกว่า 2 พันธุ์ที่กล่าวมาแล้ว
ระหว่างปีค.ศ. 1841-1941 ซาราวักอยู่ภายใต้การปกครองของ "ตระกูลบรู๊ค" หลังจากสุลต่านแห่งบรูไนได้ยกพื้นที่ให้กับชาวอังกฤษที่ชื่อ "เจมส์ บรู๊ค" เป็นราชาปกครอง มีการสืบทอดบริหารต่ออีก 2 รุ่นในวงศ์วานว่านเครือของเจมส์ บรู๊ค ทั้ง 3 รุ่น 3 คนนี้ถูกเรียกว่าผู้ปกครองนครผิวขาว (White Rajahs) แต่นับจากปีค.ศ. 1888 เป็นต้นมา ซาราวักก็ตกเป็นดินแดนภายใต้การอารักขาของอังกฤษ
เหตุที่ต้องเท้าความไปถึงอดีตนั้น ก็เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น เพราะรุ่นที่ 2 ของตระกูลบรู๊ค เป็นผู้ผลักดันนโยบายพัฒนาด้านการเกษตรในซาราวักขนานใหญ่ มีการเปิดพื้นที่เพื่อทำไร่ทำฟาร์มกันอย่างเป็นระบบที่เมืองกูชิง โดยในปีค.ศ. 1866 ผู้นำตระกูลรุ่นนี้ได้เข้าไปทำไร่กาแฟและไร่ชาในบริเวณที่เรียกว่า “มาตัง” ในปัจจุบัน ซึ่งสายพันธุ์กาแฟที่นำมาปลูกเป็นครั้งแรกนั้นก็ได้แก่ อาราบิก้า
แต่เมื่อเติบโตขึ้น ปรากฎว่ากาแฟอาราบิก้าดังกล่าวกลับไม่ออกดอกออกผล สร้างความผิดหวังให้อย่างยิ่ง จึงมีการนำสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งก็คือ “ไลเบอริก้า” เข้ามาปลูกแทนในปีค.ศ. 1875 โดยนำเมล็ดพันธุ์มาจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงของอังกฤษในซีลอน (ศรีลังกา) อาจเป็นด้วยว่า “ไลเบอริก้า” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงทนทาน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศและดินของเขตป่าฝนอย่างตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวได้ดีกว่า จึงให้ผลผลิตที่ค่อนข้างสูง จนเก็บเกี่ยวและนำไปแปรรูปเพื่อส่งออกในช่วงแรกๆ
ต่อมา เกิดความผิดพลาดในการบริหารงานไร่กาแฟขึ้น นำไปสู่ปริมาณการผลิตที่ตกต่ำลง ผู้นำตระกูลบรู๊ครุ่นต่อมาจึงหาทางชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปด้วยการทำ “ไร่ยางพารา”และ “ไร่พริกไทย” แทนที่การปลูกกาแฟ แต่แม้ว่าไร่ขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์จะเลิกราไปแล้ว ทว่าการทำไร่ “กาแฟไลเบอริก้า” ภายใต้เกษตรกรรายเล็กรายน้อยยังดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการบริโภคเองภายในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่
ที่ผ่านมา “ไลเบอริก้า” ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากทั้งกลิ่นและรสชาติถูก "ตีตรา" ว่ามีคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับกาแฟอาราบิก้า อีกทั้งยังด้อยกว่าโรบัสต้า ด้วยมีรสขมกว่า จนถูกมองข้ามและละเลยกันไป ทว่าเมื่อไม้กี่ปีที่ผ่านมา รัฐกาแฟและโรงคั่วในมาเลเซีย โดยเฉพาะจากเมืองกูชิง พยายาม "ปลุกปั้น" กาแฟใบใหญ่อย่าง “ลิเบอริก้า” จากที่เคยใช้กันตามร้านโกปี๊เตี่ยม มาให้เป็นเมล็ดกาแฟที่สามารถใช้ประจำการได้ในคาเฟ่ยุคใหม่ รวมไปถึงร้านกาแฟแบบพิเศษ ที่กำลังได้รับความนิยมจากนักดื่มในยุคคลื่นลูกที่ 3 ของวงการกาแฟโลก
ในปีค.ศ. 2018 กาแฟพิเศษ “ไลเบอริก้า” จากซาราวัก ของโรงคั่วกาแฟชั้นนำของเมืองกูชิงที่ชื่อ "เอิร์ธลิงก์ส ค๊อฟฟี่ เวิร์คช้อป" (Earthlings Coffee Workshop) มีโอกาสไปปรากฎโฉมเป็นครั้งแรกของโลกที่งานเทศกาลกาแฟในเมืองสตุ๊ตการ์ท ประเทศเยอรมนี ปรากฎว่า คว้ารางวัล "สารกาแฟคุณภาพ" มาครอบครองได้ จัดว่าไม่ธรรมดาเลยจริงๆ...
เรียกว่า...งานนี้เป็นการเปิดตัว “กาแฟไลเบอริก้า” อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกชนิดค่อนข้างสวยเลยก็ว่าได้ หลังจากเป็นหนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่ "โลกลืม" มาอย่างยาวนาน
ในปีต่อมา ได้มีการจัดงานเทศกาลกาแฟบอร์เนียว (Borneo Coffee Show) ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองกูชิง โดยมี "เอิร์ธลิงก์ส ค๊อฟฟี่ เวิร์คช้อป" เป็นโต้โผจัดงาน มีการเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญวงการกาแฟระหว่างประเทศเข้าร่วมงานกันมากหน้าหลายตา แม้ว่าจะไม่ใช่งานใหญ่โตอะไรมากมาย แต่เป้าหมายสำคัญของการจัดงานครั้งนี้นั้นอยู่ที่ต้องการ "ปลุกชีพ" กาแฟไลเบอริก้าของมาเลเซียภายใต้มิติใหม่ทั้งในแง่ของการปลูก โพสเซส และการชง ให้เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในหมู่คอกาแฟทั่วโลก และเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองหรือค่านิยมในอดีตที่เชื่อกันว่า “กาแฟไลเบอริก้า” มีคุณภาพไม่ดีเท่าใดนัก
จากข้อมูลของ เอิร์ธลิงก์ส ค๊อฟฟี่ เวิร์คช้อป ระบุว่า ต้นกาแฟ “ไลเบอริก้า” มีความคล้ายคลึงต้นกาแฟโรบัสต้ามากกว่าอาราบิก้า ให้ผลเชอรี่ที่ใหญ่กว่า อีกทั้งช่วงเวลาในการเติบโตจนสุกพร้อมเก็บเกี่ยวก็สั้นกว่า อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อได้เปรียบอยู่ในด้านการผลิต อาจเป็นที่ชื่นชอบของเกษตรกรชาวไร่ แต่สำหรับผู้บริโภคแล้วต่างออกไป คอกาแฟล้วนให้ความสำคัญกับ "กลิ่น" และ "รสชาติ" กาแฟมาก่อนเป็นอันดับแรก
ไลเบอริก้าเป็นกาแฟที่ให้รสขมกว่าอาราบิก้า มีกลิ่นกาแฟที่ถูกพิจารณาว่ามานมนานแล้วว่าคล้ายกับ "กลิ่นควัน" กลายเป็นชุดความเชื่อที่ตกทอดต่อๆ กันมา คล้ายกับที่กาแฟโรบัสต้าถูกมองว่า "ด้อยค่า" กว่ากาแฟอาราบิก้า ตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการกาแฟโลก
เช่นเดียวกับ คนทำไร่กาแฟโรบัสต้าที่กำลังพิสูจน์ว่ากาแฟสายพันธุ์นี้เป็น “ของดีมีคุณภาพ" หากว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเช่นเดียวกับกาแฟอาราบิก้า
ในมาเลเซียเอง คนทำกาแฟ “ไลเบอริก้า” ก็มีแนวคิดเช่นนี้ ด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการด้วยกัน หนึ่งนั้นด้วยรักและผูกพันต่อกาแฟที่ปลูกและดูแล จึงอยากเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ว่าเป็นกาแฟเกรดต่ำ สองนั้นต้องการสร้างคุณภาพเพื่อหวังเพิ่มมูลค่ากาแฟให้สูงขึ้น สามนั้นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องอนาคต แต่ก็เป็นอนาคตที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ เนื่องจากกาแฟอาราบิก้ากำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน จึงถือเป็นโอกาสทองของกาแฟสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ดีกว่า
ขณะที่ร้านกาแฟดั้งเดิมแบบ “โกปี๊เตี่ยม" ในซาราวักยังคงเสิร์ฟกาแฟใส่นมที่ใช้สายพันธุ์ไลเบอริก้าตามวิถีเก่าแก่อยู่นั้น บรรดาร้านกาแฟแบบพิเศษในเมืองกูชิงที่มีเป้าหมายชัดเจน ก็เริ่มใช้ “กาแฟไลเบอริก้า” จากท้องถิ่นมาชงเป็นกาแฟให้กับลูกค้า จากเดิมที่เคยใช้เฉพาะกาแฟพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า นอกจากนั้นแล้วเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ต่างออกไป ร้านกาแฟบางแห่งก็มีเปิดให้มีการชิมทดสอบ (Coffee Cupping) กาแฟไลเบอริก้า "คุณภาพ" ในระดับการคั่วต่างๆ อีกด้วย
การค้นหาเทคนิคของการโพรเซสและคั่วกาแฟ เพื่อให้เหมาะสมกับกาแฟแต่ละสายพันธุ์ไม่ใช่งานง่ายๆ เลย อย่างไลเบอริก้านั้น โรงคั่วเอิร์ธลิงก์ส ค๊อฟฟี่ เวิร์คช้อป ต้องการให้กาแฟตัวนี้แสดง "ความหวานโดยธรรมชาติ" ออกมาให้มากที่สุด
สุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการโพรเซสและการคั่วตามแนวทางใหม่ๆ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเก็บงำเอาไว้ก่อน) ก็คือ ได้กลิ่นรสกาแฟไลเบอริก้าออกโทนน้ำตาลปาล์ม, กล้วยสุก ขนุนสุก ผสมกับกลิ่นสมุนไพรบางชนิด แซมด้วยกลิ่นเครื่องเทศของอบเชย
"My Liberica Coffee" ไร่กาแฟขนาดเล็กๆ ในรัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ซึ่งเริ่มปลูกสายพันธุ์ไลเบอริก้ามาตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 ดูจะเป็นไร่กาแฟเพียงไม่กี่รายที่มีกาแฟผลิตน้อยสายพันธุ์นี้วางจำหน่ายบนเว็บไซต์ออนไลน์ในแบบฉบับกาแฟพิเศษด้วย มีทั้งโพรเซสแบบแห้ง(Dry Process) และแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง (Honey Process) ระดับการคั่วมีทั้งคั่วกลาง, คั่วกลางเข้ม และคั่วเข้ม ตัวที่เป็นกาแฟพิเศษพร้อมระบุว่าเป็น "Liberica Single Origin" กลิ่นรสโทนขนุนสุก บรรจุถุง 200 กรัม ขายในราคา 47 ริงกิต(ราว 350 บาท)
มาเลเซียนั้นปลูกและส่งออกกาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้าเป็นเวลานานมาแล้ว แต่มาบัดนี้กำลังมีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะ "ปลุกชีพ" กาแฟโลกลืมอย่างไลเบอริก้าเพื่อเข้าประชันขันแข่งในตลาดโลกที่มีกาแฟอาราบิก้าครองแชมป์อยู่
คงต้องจับตาดูกันชนิดห้ามพลาดเสียแล้วว่า สายพันธุ์ที่เดิมถูกใช้ชงกาแฟในร้านโกปี๊เตี่ยมหรือใช้ทำกาแฟขาว จะก้าวเข้าสู่เวทีโลกได้มากน้อยขนาดไหน เมื่อถูกนำเข้าสู่การผลิตแนวทางใหม่ในแง่การปลูก การแปรรูป การคั่ว และการชง ตามวิถีทางกาแฟแบบพิเศษ..!