คลังเล็งขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง 0.01% ออกไปอีก หลังจบสิ้นปี 2565 นี้ ส่วน ธปท.ไม่ต่ออายุมาตรการ LTV ยังไม่ทราบเรื่อง
วันที่ 31 ตุลาคม 2565 นายกฤษฎา จีนะวิจารณา ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพิจารณาต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้
ขณะนี้เราเริ่มหารือกันมา 2-3 รอบ แต่จะต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อน เพราะเป็นรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา ท้องถิ่นเขาก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวกำหนดลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ส่วนค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01%
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต่ออายุมาตรการ LTV นั้น ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นไปตามความเห็นของ ธปท. เพราะจะเกี่ยวข้องในเรื่องของความมั่นคงในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วย
คลังชี้ ให้ต่างชาติถือครองที่ดินไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกณฑ์เข้มงวดกว่า
คลังเผยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน 40 ล้านบาท แลกถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1 ไร่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ชี้รอบนี้เกณฑ์เข้มงวดกว่า กำหนดต่างชาติศักยภาพสูง 4 ประเภท
วันที่ 31 ตุลาคม 2565 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทย ให้ต่างชาติศักยภาพสูง 4 ประเภท เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 40 ล้านบาท เพื่อแลกกับการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนนั้น เป็นลักษณะคล้าย ๆ เรื่องเดิมที่เคยมีอยู่ในอดีต ช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเข้าใจว่าน่าจะเป็นหลักการเดิม แต่มีเงื่อนไขของกลุ่มบุคคลเข้ามาด้วย ซึ่งจะเข้มงวดกว่าในอดีตที่ผ่านมาด้วยซ้ำ
ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขที่กำหนดให้ชาวต่างชาติลงทุน เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ นั้น ควรจะเพิ่มหลักเกณฑ์เข้าไปเพื่อกระตุ้นการจ้างงานด้วยหรือไม่ จะต้องไปดูรายละเอียดเงื่อนไขของร่างกฎหมายที่ออกมาก่อน
ขณะที่ระยะเวลาในการลงทุนลดลงจากเดิม 5 ปี เหลือ 3 ปี เพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูเหตุผลในเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจในรายละเอียด แต่ก็ยังมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนจะช่วยประคองเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่นั้น ผู้ที่มาลงทุนในไทยอาจจะต้องการในที่อยู่ ที่พักพิง ก็เป็นรูปแบบนี้ไม่ได้ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา
“ผมยังไม่เห็นรายละเอียดร่างกฎหมาย แต่กฎหมายที่ออกมาเป็นการกำหนดเฉพาะกลุ่มเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา จึงยังไม่กล้าสรุปในรายละเอียดที่จะออกมา และไม่เห็นเอกสารในการถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเข้า ครม. ซึ่งอาจจะผ่านรองปลัดการคลังท่านอื่น แต่เท่าที่ติดตามจากข่าวก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่กังวล เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มไว้ชัดเจนแล้ว”